เอาชนะภาวะหมดไฟของคนวัยทำงาน

อาการ Burnout (เบิร์นเอ้าท์) เป็นสภาวะของความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกายซึ่งมักเกิดจากความเครียดที่ยืดเยื้อ ซ้ำซากจำเจ จนชินชาจนกลายเป็นเรื่องปกติในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยสาเหตุของภาวะหมดไฟมักเกิดจากปัจจัยอย่างเช่น แบกรับปริมาณงานมากเกินควร งานกระทบกับชีวิตส่วนตัว สภาพแวดล้อมในที่ทำงานแย่ หัวหน้างานที่ไม่มีวิสัยทัศน์หรือมอบหมายงานที่ไร้ความชัดเจน ไปจนถึงความคลุมเครือในบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งงาน และวัฒนธรรมในที่ทำงานเป็นพิษ ซึ่งการจะเอาชนะอาการเบิร์นเอ้าท์ได้นั้น คุณจำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

เช็คลิสต์: สัญญาณและอาการของภาวะหมดไฟ คุณมีกี่ข้อ?

⚠️ มักมีอาการเหนื่อยล้าและหมดแรงจะทำอะไร
⚠️ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำทำให้เจ็บป่วยเป็นประจำ
⚠️ เผชิญหน้ากับความรู้สึกไร้พลัง รู้สึกเหมือนกำลังติดกับดัก หรือรู้สึกพ่ายแพ้
⚠️ แรงจูงใจลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อพบเจอความเห็นเชิงดูถูกหรือถูกปฏิเสธ
⚠️ เริ่มไม่อยากทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่อยากมีพันธะอะไร
⚠️ แสวงหาความสันโดษ หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว
⚠️ เริ่มส่งมอบงานล่าช้า ต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำงานหนึ่งให้เสร็จ

หากคุณมีอาการดังกล่าวมากกว่า 4 ข้อ มีแนวโน้มที่คุณกำลังตกอยู่ในอาการหมดไฟ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาแนวทางการรับมือที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตไปมากกว่านี้ก่อนจะสายเกินแก้

จำไว้ว่าเรือไม่ได้จมเพราะน้ำที่อยู่รอบๆ แต่มันจมเพราะน้ำที่เข้าไปอยู่ในเรือต่างหาก จงโฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาแทนที่จะมองว่ามัน ‘มีปัญหา’ อยู่เพียงอย่างเดียว ลองมองย้อนกลับไปประเมินความคิดและความเชื่อของตัวเอง เน้นย้ำถึงข้อดีแม้จะกำลังอยู่ในช่วงทำใจลำบากก็ตาม แยกแยะให้ออกระหว่างสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีตรงจุดไหนที่คุณยังสามารถปรับในงานเพื่อปลดล็อกให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น หรือ คุณเองที่ต้องพุ่งจุดสนใจไปทำงานที่มีความหมาย แทนตัวงานที่ทำไปวันๆ ได้หรือเปล่า? เพราะการเปลี่ยนแปลงทัศนคตินั้นสามารถบรรเทาความคิดแง่ลบที่เกิดขึ้นได้ อย่าคิดมันให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกเลย

การต่อสู้กับอาการหมดไฟอย่างมีประสิทธิภาพ มักเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองในแง่ของการพัฒนาส่วนตัวและทางสายงานของคุณ ดังนั้น คุณอาจมองหาพี่เลี้ยงและโค้ชที่สามารถแนะนำและส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงบวกและโอกาสในการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับคุณได้ อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การเข้ารับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ที่มีใบอนุญาต เนื่องจากพวกเขาสามารถพาคุณไปค้นหาต้นตอที่แท้จริงของการเบิร์นเอ้าท์ และสอนกลยุทธ์การรับมือที่มีประสิทธิภาพแทนการอ่านวิธีรับมือในบทความทางอินเทอร์เน็ต การบำบัดเป็นหนึ่งในการจัดการกับความเครียดเชิงรุกที่ดีที่สุด

หากคุณเป็นคนที่มักให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่นก่อนตัวเองอยู่เป็นประจำแล้ว การกำหนดขอบเขตของตัวเองอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแต่มันจำเป็นสำหรับการกลับมารักตัวเองอย่างแท้จริง จงอนุญาตให้ตัวเองได้เลือกทำในสิ่งที่ชอบและรู้จักปฏิเสธคนอื่นเสียบ้าง เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำให้คนอื่นมีความสุขจนต้องเสียสละไปเสียทุกครั้ง ถ้าการช่วยเหลือทำให้คุณต้องเปลืองเวลาและทรัพยากรส่วนตัวจนเกินไป คุณสามารถบอกปัดไปได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด โปรดจำไว้ว่า คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือขอยืดระยะเวลาเดดไลน์ได้เมื่อจำเป็นเสมอ

วิธีฟื้นตัวจากความอ่อนล้าทางอารมณ์ที่ได้ผลที่สุด คือ ปล่อยให้ตัวเองมีความสุขกับชีวิตบ้าง นั่นหมายความว่า คุณต้องให้ความสำคัญกับการพักผ่อนและผ่อนคลายความตึงเครียดจากสิ่งที่ทำ อยู่ในปัจจุบันขณะและดื่มด่ำกับกิจกรรมหรือใช้เวลากับผู้คนที่ทำให้คุณมีความสุขจนลืมความคิดที่ทำให้คุณนอนไม่หลับ อาจจะพิจารณาการเดินทางท่องเที่ยว เปลี่ยนสถานที่เสียบ้าง ให้คุณเห็นมุมมองใหม่ๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว อย่างการออกกำลังกาย เพราะสารเอ็นโดรฟินที่หลั่งออกมาจะช่วยลดความตึงเครียด เรียกได้ว่าเป็นการพักเบรคของจิตใจนั่นเอง

การจัดการกับภาวะหมดไฟนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนมุมมอง การแสวงหาคอนเนคชั่นที่มีความหมาย กำหนดขอบเขตของตัวเองและการใช้เวลาเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ พึงระลึกอยู่เสมอ ว่า หากงานปัจจุบันของคุณเป็นตัวการที่ทำให้คุณไม่มีความสุขจนเบิร์นเอ้าท์ และกำลังคิดที่จะเปลี่ยนงาน สามารถร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางาน ณ บริษัท We Supply Talent ได้ทุกเวลาทำการ เรามีทีมงานที่สามารถช่วยหาโอกาสที่สอดคล้องกับแรงบันดาลใจของคุณได้อย่างเหมาะสม สู่งานในฝันที่พร้อมด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพจิต เติมเต็มความหวังในชีวิต

ที่มา: HelpGuide, HarvardBusinessReview, Upwork

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »