เทคนิคแนะนำตัวเองในการสัมภาษณ์งาน

เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่ผู้สัมภาษณ์มักจะถามแคนดิเดทในช่วงแรกเริ่ม คือ การขอให้แนะนำตัวเองเพื่อเปิดการสัมภาษณ์งานอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังเป็นการปูทางให้เข้าใจภาพรวมของภูมิหลัง ประวัติการทำงานที่ผ่านมา และทักษะในการสื่อสารของผู้สมัคร โดยคำถามปลายเปิดนี้ช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ประเมินได้ว่าพวกเขาสามารถอธิบายประสบการณ์ ความสำเร็จ รวมทั้งเป้าหมายในอนาคตของตนได้ดีเพียงใด

ซึ่งคำถามที่คล้ายกันที่ผู้สัมภาษณ์อาจยิงคำถาม ยกตัวอย่างเช่น

✅ “ช่วยเล่าประวัติที่เขียนในเรซูเม่ให้ผมฟังหน่อยได้ไหมครับ”
✅ “คุณพอจะอธิบายที่มาที่ไป กว่าคุณจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้หน่อยค่ะ”
✅ “รบกวนช่วยเล่ารายละเอียดแบคกราวด์การทำงานที่ผ่านมาได้ไหม”
✅ “มีอะไรเกี่ยวกับตัวคุณที่ผมควรรู้แต่มันไม่ได้ถูกเขียนในเรซูเม่ แชร์มาได้เลยครับ”

เริ่มต้นด้วยการบรรยายถึงตำแหน่งงานล่าสุด ครอบคลุมในส่วนของหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นในบริษัทปัจจุบัน ชุดข้อมูลนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นภาพ ว่า เราอยู่ตรงจุดไหนในเส้นทางอาชีพการงานตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น “ตอนนี้ ผมเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโสของบริษัท XYZ ครับ กำลังดูแลลูกทีม 10 คน และเพิ่งเปิดตัวแคมเปญดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจนทำยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 20%”

เมื่อคุณแสดงจุดยืนของตัวเองในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ให้ไล่เรียงเจาะลึกประสบการณ์ในอดีตที่หล่อหลอมอาชีพของคุณ กว่าจะมาถึงจุดนี้คุณเคยเป็นใคร เคยทำหน้าที่อะไร รับมือกับโครงการสำคัญแบบไหนมาบ้าง รวมไปถึงทักษะเฉพาะหรือบทเรียนที่คุณได้รับระหว่างทาง อาทิ “ก่อนหน้านี้ ดิฉันเคยทำงานเป็น Associate Marketing Specialist ที่บริษัท ABC โดยรับผิดชอบการวางแผนสร้างกลยุทธ์ด้านคอนเท้นต์ที่ช่วยเพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์มากถึง 30% จากประสบการณ์นี้ มันยิ่งทำให้ดิฉันหลงใหลในการตลาดดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ”

ก่อนจะจบการแนะนำตัวเอง ลองทิ้งท้ายด้วยการโฟกัสไปที่อนาคตด้วยการอธิบาย ว่า ตำแหน่งงานที่คุณกำลังสัมภาษณ์อยู่นี้ต่อยอดเส้นทางอาชีพหรือสอดคล้องกับแรงบันดาลใจของคุณอย่างไร และอาจรวมไปถึงสิ่งที่คุณคาดหวัง แผนการที่คุณริเริ่มอยากจะทำเพื่อให้พวกเขาเห็นของคุณในฐานะพนักงานคนหนึ่งได้ดียิ่งขึ้น “และถ้ามองไปถึงอนาคตอันใกล้นี้ ผมมีความกระตือรือร้นที่จะใช้ประโยชน์จากทักษะที่เรียนรู้มาไปใช้ในสถานการณ์ที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่าตำแหน่งงานนี้ในบริษัทของคุณจะมอบโอกาสที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเติบโตและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ครับ”

แม้ว่าการเล่าเรื่องของคุณจะดูน่าสนใจแต่ต้องไม่ลืมว่าการเล่าให้กระชับเป็นสิ่งสำคัญ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมคือระหว่าง 1-3 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะหยิบยกประเด็นสำคัญมาพูดได้โดยไม่สูญเสียความสนใจของผู้สัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องจับสังเกตปฏิกิริยาของผู้สัมภาษณ์เป็นระยะ หากพวกเขาดูสนใจหัวข้อใดเป็นพิเศษ คุณก็ควรปรับเปลี่ยนเนื้อหาส่วนอื่นน้อยลงเพื่อเจาะลึกถึงประเด็นที่ผู้สัมภาษณ์กำลังตั้งใจฟังให้เหมือนกับการที่ปลากำลังจะฮุบเหยื่อแล้วนั่นเอง

การตอบคำถามแนะนำตัวเองตอนสัมภาษณ์งาน เป็นมากกว่าการเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณ เพราะมันคือโอกาสโฆษณาตัวเองว่าคุณคือผู้สมัครหนึ่งเดียวในอุดมคติที่บริษัทกำลังตามหา เรียงร้อยเรื่องราวระหว่างประสบการณ์ในอดีต ความสามารถในปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคตอย่างสวยงาม มีความเกี่ยวเนื่องกันและที่สำคัญสอดคล้องกับความต้องการและความสนใจเฉพาะของผู้สัมภาษณ์

ที่มา : Big Interview, ZD Net

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »