สัญญาณแบบนี้ ได้งานที่ไปสัมภาษณ์มาชัวร์!

ในปัจจุบันตลาดงานแรงงานมีการแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อยๆ การสัมภาษณ์งานยังถือเป็นเพียงจุดสตาร์ท คุณเพิ่งออกเดินทางมาไม่กี่ก้าวเท่านั้น ความทรมานที่แท้จริงในช่วงการหางานจึงเริ่มนับหลังจากนี้ต่างหาก เป็นการรอคอยผลสัมภาษณ์อันแสนยาวนานเพื่อดูว่าคุณจะมงลงได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำงานหรือไม่ แต่กระนั้น ก็ถือว่ายังมีความโชคดีอยู่บ้างเพราะถ้าสังเกตดีๆ คุณก็อาจพบกับคำบอกใบ้และสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างและหลังการสัมภาษณ์ที่อาจบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ว่าจะได้งาน ไม่ต้องจองคิวหมอดูให้วุ่นวาย เช็คเลยสัญญาแบบนี้ ได้งานที่ไปสัมภาษณ์มาชัวร์!

1. ได้รับฟีดแบคดีๆ ระหว่างการสัมภาษณ์:

หากผู้สัมภาษณ์กล่าวคำชมเชยในแง่ของคุณสมบัติ ประสบการณ์ หรือการตอบคำถามของคุณถือเป็นสัญญาณเชิงบวกอย่างยิ่ง คำเยินยออย่าง “สิ่งที่คุณมีอยู่นั้น…เป็นสิ่งที่เรากำลังมองหาอยู่พอดี” หรือ “โห ผมว่าคุณมีประสบการณ์ที่แน่นมากในด้านนี้เลยครับ” สามารถชี้ชวนว่าผู้สัมภาษณ์มองว่าคุณดูช่างเหมาะสมกับตำแหน่งงานเสียเหลือเกิน

2. มีการคุยกันเรื่องตัวงานแบบละเอียดมาก:

เมื่อผู้สัมภาษณ์เริ่มเจาะลึกถึงความซับซ้อนของบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งงาน รวมไปถึงลักษณะของทีมหรือวัฒนธรรมบริษัทแบบถึงพริกถึงขิงราวกับว่าเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ไปแล้ว ก็มักจะเป็นสัญญาณที่ดีที่หมายความว่าพวกเขามองคุณเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพและต้องการให้แน่ใจว่าคุณได้รับข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจ

3. พาเยี่ยมชมสำนักงานหรือแนะนำสมาชิกในทีม:

เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่า ใครจะไปยอมเสียเวลาทำเรื่องไร้สาระกันบ่อยๆ ดังนั้น การได้มีโอกาสเยี่ยมชมออฟฟิศหรือการพาคุณไปแนะนำให้รู้จักกับคนในทีมที่อาจเป็นเพื่อนร่วมงานในอนาคต อาจเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนมากว่าการกระทำของผู้สัมภาษณ์บอกเป็นนัยๆ ว่า พวกเขากำลังพิจารณาคุณในด้านการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและทีมได้อย่างไรหากต้องทำงานจริง

4. บอกขั้นตอนต่อไปอย่างชัดเจน:

คำอธิบายแบบตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปในกระบวนการสัมภาษณ์และการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการให้กรอบระยะเวลาแบบเฉพาะเจาะจง ก็สามารถให้ความมั่นใจกับคุณไปอีกขั้นว่าโอกาสอยู่ในมือของคุณแล้ว วลีเช่น “ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทจะติดต่อกลับเรื่องผลสัมภาษณ์ไม่เกินสัปดาห์หน้านี้นะคะ” ถือเป็นคำบอกใบ้ที่ดูดีมากเลยหละ

5. การสัมภาษณ์ใช้เวลานานกว่ากำหนด:

โดยปกติแล้วการสัมภาษณ์งานจะกินเวลาราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง ซึ่งมีการแจ้งไว้ในตอนโทรเรียกนัดสัมภาษณ์ แต่ถ้าหากการสัมภาษณ์ของคุณกินเวลานานกว่าปกติ เกินเวลาที่ได้แจ้งเอาไว้ ก็มักจะหมายความว่าการสนทนาดำเนินไปด้วยดีมีประสิทธิผลและผู้สัมภาษณ์สนใจที่จะรู้จักคุณมากขึ้นนั่นเอง

6. ติดตามหรือแจ้งผลทันที:

หลังการสัมภาษณ์ ถ้าบริษัทมีการส่งอีเมลหรือโทรศัพท์สั้นๆ มาหาโดยมิได้นัดหมายไว้ล่วงหน้า มักจะมีความหมายโดยนัยถึงผลลัพธ์ที่เป็นบวก ว่า พวกเขาไม่เพียงแต่มีความสนใจในโปรไฟล์ของคุณเท่านั้น แต่ยังอยากทำให้คุณรู้สึกสำคัญและเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ทำให้คุณรู้สึกเคว้งคว้างโดยไม่มีคำตอบอย่างแน่นอน

7. บุคคลอ้างอิงที่ให้ไว้ได้รับการติดต่อ:

ถ้าอดีตนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงานของคุณแจ้งให้ทราบว่าพวกเขาได้รับการติดต่อสอบถามจากบริษัทที่คุณไปสัมภาษณ์มา เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลบางประการเพื่อใช้อ้างอิงข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการทำงาน ความรับผิดชอบ ฯลฯ นี่อาจเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด ว่า คุณเป็นนัมเบอร์วันสำหรับตำแหน่งงานนี้

8. คุยเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน:

ปกติแล้ว ผู้สัมภาษณ์จะไม่เสียเวลาคุยเรื่องค่าตอบแทนให้เหนื่อยเปล่า เว้นเสียแต่ว่าพวกเขากำลังพิจารณาอยากว่าจ้างคุณเข้ามาทำงานด้วยอย่างจริงจังเท่านั้น หากบทสนทนาเริ่มมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องตัวเลข ความคาดหวังเงินเดือน สวัสดิการหรือสิทธิพิเศษพนักงานอื่นๆ ให้ถือว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่ดูมีความหวัง!

แม้ว่าสัญญาณเหล่านี้ดูจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงผลลัพธ์เชิงบวก แต่สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องไม่ด่วนสรุปว่าได้งานแล้วจนกว่าจะมีการเสนองานอย่างเป็นทางการ กระบวนการสรรหาบุคลากรมีความซับซ้อนและอาจมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น จงอย่าลืมที่จะอดทนและมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ คุณทำดีที่สุดแล้วในการสัมภาษณ์ การสังเกตเห็นสัญญาณข้างต้นหลายประการเพียงจะทำให้คุณรู้สึกมั่นคงในใจเท่านั้นว่า คุณมีโอกาสจะได้ยินข่าวดีเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ได้การันตีแบบ 100%

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »