รับมือคำถามสัมภาษณ์​ “คุณมีอะไรจะถามไหม?”

เพราะการสัมภาษณ์งานเป็นการสื่อสารแบบสองทาง เพื่อให้ทั้งนายจ้างและผู้สมัครงานมีโอกาสได้ประเมินความเข้ากันได้ของทั้งสองฝ่าย   แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีที่จะตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์แล้ว แต่พวกเขาก็มักหลงลืม ดูถูกความสำคัญของการยิงคำถามกลับเมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามตรงๆ โดยทันทีที่ถูกถามว่า “คุณมีอะไรจะถามไหม?” ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้แค่ถามเพื่อเป็นพิธีรีตองเท่านั้น แต่มันยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้วัดระดับความสนใจในตำแหน่งงาน ตัวบริษัท ไปจนถึงวัดระดับความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของแคนดิเดทเป็นรายบุคคลอีกด้วย ในขณะเดียวกัน เราในฐานะผู้สมัครเองก็ยังสามารถประเมินความสอดคล้องของวัฒนธรรมองค์กรกับค่านิยมและสไตล์การทำงานของตัวเองได้จากการถามคำถามกลับนั่นเอง เพื่อลดความไม่นอน ความไม่สมเหตุสมผลก่อนจะตกปากรับคำเซ็นสัญญาจ้างงานไปในท้ายที่สุด

#1 เตรียมตัวล่วงหน้า

ก่อนการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง คุณควรศึกษาข้อมูลประวัติความเป็นมาบริษัท บทบาทหน้าที่ในตำแหน่งงาน และข่าวสารอัพเดทในวงการอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อเพิ่มหัวข้อบทสนทนา ‘อย่างผู้รู้’ ให้ลื่นไหล อาจลิสต์คำถามที่สะท้อนถึงความสนใจ รวมถึงข้อกังขาของคุณก็ได้ เช่น ทิศทางของบริษัทต่อสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน เป็นต้น การเตรียมการนี้จะช่วยให้คุณถามคำถามที่เกี่ยวข้องได้

#2 ถามเกี่ยวกับตำแหน่งงาน

จริงอยู่ที่ว่า อาจมีการอธิบายถึงขอบเขตหน้าที่ของงานในช่วงระหว่างการสัมภาษณ์ไปแล้ว แต่ถ้าหากผู้สัมภาษณ์ไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาในบางหัวข้อ จังหวะนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเจาะลึกลงไปเกี่ยวกับความรับผิดชอบ ความคาดหวัง และ KPI ของพนักงานในแต่ละวันให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคุณในการทำความเข้าใจตำแหน่งงานและการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น

#3 ขอข้อมูลบริษัทแบบเจาะลึก

เพื่อให้เข้าใจมุมมองของบริษัทอย่างครอบคลุมมากกว่าเดิม คุณสามารถยิงถามคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรม ค่านิยม และลักษณะการทำงานของทีมที่คุณ(อาจ)จะเข้าไปร่วมทำงานด้วย ตัวอย่างคำถามได้แก่ “บริษัทมีแนวทางในการพัฒนาพนักงานอย่างไร” หรือ “ในทีมที่ผมต้องทำงานด้วย มีการแบ่งงานหรือทำงานร่วมกันอย่างไรในแต่ละโปรเจค”

#4 ถามถึงประสบการณ์ของผู้สัมภาษณ์

หลายครั้งที่การแชร์ประสบการณ์ของผู้สัมภาษณ์กับผู้สมัครงานสามารถสร้างสายสัมพันธ์บางอย่างให้รู้สึกไว้ใจกันได้มากขึ้น ซ้ำยังช่วยให้คุณรู้ว่าสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างหากได้ทำงานนี้จริงๆ โดยอาจเป็นคำถามอย่าง “คุณชอบอะไรมากที่สุดในการทำงานที่บริษัทนี้” หรือ “คุณช่วยแชร์ความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของคุณ ณ​ ที่บริษัทนี้ได้ไหม”

#5 แอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนถัดไป

แสดงความกระตือรือร้นง่ายๆ ด้วยการถามเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการสัมภาษณ์งานไปเลย เพราะคุณจะได้ไม่ต้องรออย่างไม่มีจุดหมาย! นอกจากนี้ การตอบกลับของผู้สัมภาษณ์อาจบอกใบ้ได้ว่าคุณคือ ‘คนที่ใช่’ หรือเปล่า เนื่องจากผู้สัมภาษณ์ที่เต็มใจอธิบายกระบวนการทั้งหมดอย่างโปร่งใสเพื่อให้คุณสบายใจ ไม่ตอบแบบขอไปทีมีแนวโน้มที่จะว่าจ้างคุณในอนาคต โดยคุณอาจจะถามไปว่า “ขั้นตอนต่อไปคืออะไร” หรือ “จะได้รับคำตอบว่าได้งานหรือไม่ในช่วงไหน”

#6 หลีกเลี่ยงคำถามที่ละเอียดอ่อน

ไม่ใช่ทุกคำถามที่สามารถถามได้เลยในรอบแรกของการสัมภาษณ์​ โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือน สิทธิพิเศษและสวัสดิการพนักงาน เพราะหัวข้อเหล่านี้อาจทำให้คุณถูกมองไม่ดี มีแรงจูงใจจากค่าตอบแทนเป็นหลักมากกว่าตัวงานเอง ทางที่ดีควรเก็บไว้ถามในการสัมภาษณ์รอบลึก หรือจนกว่าคุณจะได้รับการเสนองานในขั้นตอนสุดท้าย

มาถึงตรงนี้ การรับมือกับคำถามอย่าง “คุณมีอะไรจะถามไหม” ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป หากคุณเลือกใช้คำถามที่ถูกต้องเหมาะสม และถามด้วยความมั่นใจแล้ว เชื่อว่าคุณจะสามารถสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมให้กับผู้สัมภาษณ์อย่างแน่นอน เป็นการเพิ่มโอกาสในการได้งานไปอีกเท่าตัว โปรดจำไว้ว่า เมื่อถูกถามด้วยคำถามนี้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นคือโอกาสของคุณที่จะแสดงให้เห็นว่า คุณแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น และควรค่าแก่การคัดเลือกรับเข้าทำงาน

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »