เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไม ถึงแม้คุณจะใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการเขียนเรซูเม่อย่างพิถีพิถันแล้ว แต่คุณก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีต้นตอที่แท้จริงอาจเป็นเพราะเรซูเม่ของคุณนั้นไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS  เนื่องจากในตลาดงานปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง บริษัทหลายแห่งต่างหันมาใช้ระบบติดตามผู้สมัครหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ATS ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการประวัติงานจำนวนมาก และเลือกแสดงเฉพาะที่ตรงตามเกณฑ์ที่ผู้ใช้กำหนดไว้เท่านั้น นั่นแปลว่า หากเรซูเม่ของคุณไม่เป็นไปตามระบบ เป็นไปได้ว่าใบสมัครที่ส่งไปถูกดองเอาไว้สักแห่งในฐานข้อมูล ส่งผลให้ฝ่ายบุคคลไม่โทรติดต่อ เงียบหายไปเฉยๆ ไม่ว่าคุณจะมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์มากแค่ไหนก็ตุ๊บ

ข่าวดีก็คือ การทำความเข้าใจว่าระบบติดตามผู้สมัครทำงานอย่างไรก็สามารถทำให้คุณพลิกเกม ปรับแต่งเรซูเม่ของตัวเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการสัมภาษณ์งานได้มากกว่าที่เคยนั่นเอง!

จำไว้ว่า ‘ความเรียบง่ายคือกุญแจสำคัญของระบบติดตามผู้สมัคร’ เพราะระบบเหล่านี้ทำงานด้วยการสแกนข้อมูลในรูปแบบที่คาดเดาได้ คือสแกนจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณจะต้องจัดระเบียบเรซูเม่ของคุณในลักษณะที่เข้าถึงได้ง่ายทั้งสำหรับระบบ ATS และสายตามนุษย์ปกติ กล่าวคือรูปแบบที่ซับซ้อนมากเกินไปจะทำให้ ATS สับสน ส่งผลให้ข้อมูลสำคัญถูกมองข้าม

แม้ว่าเรซูเม่ที่ได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์จะดึงดูดสายตาของผู้อ่าน แต่ก็อาจทำให้ระบบสับสนจนทำงานรวนได้ โดยรูปแบบที่ซับซ้อนอย่างการแทรกตาราง กล่องข้อความ กราฟิกล้ำๆ ใส่คอลัมน์ให้ดูสบายตา หรือเติมส่วนหัว (Header) ให้ดูแพงอาจขัดขวางความสามารถของ ATS ในการแยกวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แก้ไขง่ายๆ ด้วยการยึดเค้าโครงที่เรียบที่สุด ถึงจะดูน่าเบื่อแต่สะอาดตาเพื่อให้แน่ใจว่าระบบเหล่านี้สามารถเข้าใจเรซูเม่ของคุณได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ฟ้อนต์อักษรที่คุณเลือกมีความสำคัญมากกว่าที่คิด จงเลือกแบบอักษรที่เป็นที่นิยมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น Arial, Calibri, Cambria, Garamond หรือ Georgia ที่มีรูปแบบการดีไซน์ที่สบายตา อ่านง่ายทำให้ ATS ประมวลผลเรซูเม่ของคุณโดยไม่มีสะดุด ซึ่งคุณอาจเลือกปรับขนาดตัวอักษรไม่ให้เล็กจนเกินไป หรือใหญ่จนเกินพอดี ขนาดกำลังพอดี 12-14 พอยต์ สร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการอ่านของระบบและคงความเป็นมืออาชีพ

เพื่อให้เรซูเม่ของคุณเข้ากันได้กับ ATS ยิ่งขึ้น จงเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่ชัดเจน ตรงไปตรงมาอันแสดงถึงการแบ่งข้อมูลแต่ละส่วนออกเป็นหมวดหมู่ อาทิ ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ‘การศึกษา’ ‘ประสบการณ์การทำงาน’ ‘ทักษะ’ และ ‘รางวัล’ เป็นคำหลักที่นิยมใช้กันทั่วไป เป็นสากลและมีประสิทธิภาพ โดยต้องหลีกเลี่ยงหัวข้อแปลกๆ อย่าง ‘ทำความรู้จัก(ชื่อตัวเอง)’ หรือ ‘เคยผ่านงานอะไรมาบ้าง?’ เพราะระบบอาจตีความข้อมูลส่วนนั้นไม่ออก นอกจากนี้ คุณอาจปรับแต่งเรซูเม่โดยรวมคีย์เวิร์ดสำคัญที่รวบรวมจากประกาศรับสมัครงาน เพิ่มโอกาสการมองเห็นเวลาที่บริษัทใช้คำเหล่านั้นในการค้นหาโปรไฟล์

จริงอยู่ที่ว่าไฟล์ PDF จะได้รับความนิยม แต่เชื่อหรือไม่ว่าไฟล์ Word นามสกุล Docx มักจะเป็นมิตรกับ ATS มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ควรยึดจากคำแนะนำที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครงานเสมอว่านายจ้างต้องการไฟล์ประเภทใด อย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่าไฟล์ที่ส่งไปนั้นสามารถคลิกและคัดลอกตัวหนังสือได้ หลีกเลี่ยงการส่ง PDF ที่มีข้อความที่ไม่สามารถคลุมดำได้ เช่น รูปภาพหรือเนื้อหาที่ได้รับการล็อคปกป้องไว้ เนื่องจากระบบ ATS จะอ่านค่าข้อมูลเป็น ‘ว่างเปล่า’ แทน

ท้ายที่สุดนี้ ผู้สมัครทุกคนควรเขียนเรซูเม่เป็นภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็นการสมัครงานในประเทศไทยหรือต่างประเทศ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ใช้ ATS ที่กำหนดค่าภาษาอังกฤษไว้เป็นหลัก หากคุณปรับแต่งประวัติงานด้วยวิธีการข้างต้นสามารถมั่นใจได้ว่าเรซูเม่ของคุณจะสามารถเข้าถึงและถูกค้นหาได้โดยทั้งระบบและผู้จัดหางานที่เป็นมนุษย์ เพิ่มโอกาสให้ประวัติงานผ่านการตรวจข้อมูลโดยระบบ ATS และถูกส่งต่อไปอยู่ในมือของฝ่ายบุคคลในท้ายที่สุด

ที่มา: Indeed, The Muse

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »