เคยมั้ย? สัมภาษณ์งานจนได้รับการคัดเลือกแล้ว แต่พอเอาเข้าจริงกลับรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ แต่จะปฏิเสธข้อเสนองานยังไงให้ดูมืออาชีพดีนะ งานนี้คงต้องงัดทุกไหวพริบที่มีออกมาใช้ทั้งหมด เพราะหากจัดการไม่ได้ สื่อสารไม่ดีก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีกับบริษัทเหล่านั้นไปเสีย เช็คเลย! กลยุทธ์ปฏิเสธข้อเสนองานอย่างสวยงาม ไม่โดนแบล็คลิสต์ แถมยังทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับนายจ้างแข็งแกร่งขึ้นไปอีก
1. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง:
หลังจากที่คุณได้ใช้เวลาคิดทบทวนและตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนองานมาถี่ถ้วนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องแจ้งให้บริษัททราบทันทีว่าคุณตัดสินใจอย่างไรกับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถหาคนใหม่มาแทนที่ได้ทันโดยไม่เกิดความล่าช้าหรือสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ ซึ่งการแจ้งอย่างทันท่วงทีไม่เพียงแต่ดูเป็นมืออาชีพเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีแสดงความขอบคุณต่อข้อเสนองานที่พวกเขามีให้คุณอีกด้วย
2. อย่าแตกหัก:
แนวทางปฏิบัติในการสื่อสารควรสุภาพเป็นทางการและให้เกียรติไม่ว่าจะมีเหตุผลในการปฏิเสธแบบใดก็ตาม เนื่องจากในโลกของการทำงาน บางครั้งนั้นมีความเชื่อมโยงถึงกันจนคุณประหลาดใจ ไม่แน่ว่าข้อเสนองานที่ถูกปฏิเสธในวันนี้อาจกลายมาเป็นโอกาสทองของวันพรุ่งนี้ก็ได้ ดังนั้น การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้หากคุณมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่ดูเหมาะสมและพวกเขากำลังมองหางานใหม่อยู่ อาจใช้โอกาสนี้ในการเสนอให้ฝ่ายบุคคลรับไปพิจารณาเป็นการแสดงความรับผิดชอบ
3. แสดงความขอบคุณ:
ขั้นตอนแรกของการปฏิเสธควรเริ่มด้วยเรื่องบวกๆ ที่จะกรอบให้บทสนทนามีบรรยากาศที่ไม่ตึงเครียดจนเกินไป อย่างการแสดงความขอบคุณต่อโอกาสที่ได้รับมานี้ คุณไม่ได้มองข้ามเรื่องเวลาและความพยายามของผู้สัมภาษณ์ที่ได้ทุ่มเทให้กับการอ่านเรซูเม่ การสัมภาษณ์ ไปจนถึงการพิจารณาว่าจ้างงานแม้แต่น้อย แถมยังรู้สึกซาบซึ้งใจอีกด้วย นอกจากนี้ คุณอาจลงรายละเอียดแสดงความขอบคุณโดยกล่าวถึงประเด็นต่างๆ เพื่อเน้นย้ำความใส่ใจ เช่น ขอบคุณสำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัทหรือโอกาสในการพบปะสมาชิกในทีม เป็นต้น
4. มีความซื่อสัตย์และชัดเจน:
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพผ่านข้อความที่มีความชัดเจนอย่างตรงไปตรงมาของคุณจะทำให้บริษัททราบว่า การตัดสินใจของคุณนั้นผ่านการพิจารณามาเป็นอย่างดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แม้คุณสามารถให้เหตุผลตามความจริงแต่ก็ไม่ควรลงรายละเอียดมากเกินไปจนทำให้เกิดความขัดแย้งหรือข้อเปรียบเทียบ อย่างเช่น แทนที่จะพูดว่าคุณเลือกบริษัทอื่นเพราะพวกเขามีสวัสดิการที่ดีกว่าในทุกๆ ด้าน ก็อาจให้เหตุผลว่าหลังจากพิจารณาแล้วคุณรู้สึกว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้ในบริษัทอื่นมากกว่า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกลบต่อผู้ฟัง ดังนั้น จงพยายามมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ มันจะช่วยให้บริษัทเข้าใจมุมมองของคุณแต่ยังเคารพในการตัดสินใจนั่นเอง
5. โทรสายแทนการส่งอีเมล:
ในกรณีที่ HR โทรมาเสนอตำแหน่งงานให้ หรือคุณมีความสนิทสนมและรู้จักกับผู้สัมภาษณ์มาบ้างแล้ว มันยิ่งดูเหมาะสมมากกว่าถ้าคุณเลือกโทรกลับไปแจ้งสถานการณ์ของตัวเองการส่งข้อความผ่านทางอีเมล เนื่องจากสะท้อนถึงความจริงใจและความใส่ใจที่มากกว่า คุณอาจใช้อีเมลเพื่อนัดหมายการสนทนาทางโทรศัพท์สั้นๆ อย่างเป็นทางการ
แม้จะเป็นการปฏิเสธข้อเสนองาน แต่ไม่จำเป็นที่มันจะต้องลงเอยด้วยการตัดช่องทางการสื่อสารหรือไม่ไปเริ่มงานให้บริษัทเสียเวลาเปล่า หากคุณสามารถใช้ไหวพริบและความจริงใจในการปฏิเสธข้อเสนอด้วยความเป็นมืออาชีพ เชื่อว่าประตูแห่งโอกาสนี้ หากมันถูกเปิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต บริษัทจะยังคงจดจำชื่อของคุณและเข้าหาคุณเป็นคนแรกๆ อย่างแน่นอน