หลายครั้งที่การสัมภาษณ์งานทำเอาหืดขึ้นคอ เพราะถูกยิงคำถามที่สร้างความกดดันสูงทำให้สมองมึนตึ๊บ และหนึ่งในคำถามที่มักทำให้ผู้สมัครไม่ทันตั้งตัว ก็คือ “ทำไมคุณถึงลาออกจากที่เก่า?” ฟังดูเหมือนง่าย แต่ถ้ามองดูดีๆ แล้วคำตอบของคำถามนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นคำถามตัดสินชี้ชะตาก็ว่าได้ แต่ก่อนอื่น…เพื่อช่วยคุณรับมือกับความหนักใจเวลาถูกยิงคำถามดังกล่าว เรามาลองตรวจสอบคร่าวๆ ว่าคำตอบที่คุณเคยให้ไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งก่อนๆ ดีพอไหม?
เช็คลิสต์ คำตอบที่ดีควรเป็นแบบไหน
✅ มีความซื่อสัตย์และเป็นมืออาชีพ
✅ หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์บริษัทเดิมแม้ว่าคุณจะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายก็ตาม
✅ โฟกัสแต่ด้านดีของเหตุการณ์
✅ เน้นย้ำบทเรียนที่ได้เรียนรู้หรือทักษะที่ได้รับ ซึ่งวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเปลี่ยนการเล่าเรื่องลบๆ ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นพลังงานบวก
เรามาลองเช็ค 10 คำตอบยอดฮิตที่ถูกใช้บ่อยๆ ถึงเหตุผลในการลาออกจากงาน เพื่อเป็นแนวทางให้คุณนำไปปรับใช้กับการสัมภาษณ์งานในอนาคตกันเลย
1. อิ่มตัว / มองหาการเติบโต:
ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาโอกาสที่จะก้าวหน้าในสายงาน การพัฒนาทักษะอาชีพ หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ล้วนแล้วแต่ถูกมองเป็นเรื่องดีทั้งนั้น นายจ้างมักจะชื่นชมผู้สมัครที่มีแรงจูงใจในการพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาชีพของตัวเอง ด้วยทัศนคติของน้ำที่ไม่มีวันเต็มแก้วจะทำให้พวกเขาเห็นภาพของคุณในฐานะพนักงานที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองมาถึงจุดอิ่มตัว คือ แทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่อีกแล้ว เลยอยากมองหาโอกาสที่ทำให้ตัวเองได้พัฒนาทักษะมองหาความท้าทายใหม่ๆ บ้างค่ะ”
2. ไม่อินกับวัฒนธรรมองค์กร:
คุณรู้ตัวเองดีว่าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมภายในองค์กรนั้นได้แม้จะพยายามแล้วก็ตาม แต่ด้วยค่านิยมของคุณนั้นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทมีเลยทำให้รู้สึกถึงความลำบากใจในการไปทำงาน ในกรณีนี้การลาออกเนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมจะแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ในตนเองและความมุ่งมั่นที่จะค้นหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่คุณสามารถประสบความสำเร็จได้
“แม้ว่าผมจะได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการทำงานที่นั่น แต่ผมก็สัมผัสได้ว่าตัวเองอาจจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมของบริษัท ที่ผมมองหางานใหม่ ก็อยากทำงานในที่ที่ที่สอดคล้องกับค่านิยมและสไตล์การทำงานของผมครับ”
3. บริษัทอยู่ไกล / ย้ายที่อยู่:
หลายคนเลือกจะลาออกเพราะที่ตั้งของบริษัทนั้นอยู่ไกล โดยจำเป็นต้องเผื่อเวลาหรือเปลี่ยนวิธีโดยสารหลายต่อส่งผลให้เกิดความอ่อนล้าสะสม มันคงดีกว่าถ้าได้ที่ทำงานใกล้บ้านหรือเดินทางสะดวกขึ้นซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ อีกกรณีหนึ่ง คือ คุณอาจจะกำลังมองหาคอนโดใหม่ และการย้ายที่อยู่ครั้งนี้จำเป็นต้องลาออกจากงานตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องครอบครัว นายจ้างมักจะเข้าใจและเคารพในความจำเป็นของคุณ
“พลอยทำงานที่นั่นมาหลายปีและส่วนใหญ่ก็พบว่าเราเสียเวลาอยู่กับการเดินทางหลายชั่วโมงต่อวัน ตอนนี้เหนื่อยกับการเดินทาง และถ้าหากได้ที่ทำงานที่ใกล้บ้านขึ้นมาอีกหน่อยจะทำให้เราโฟกัสกับการทำงานได้ดีมากกว่าเดิมค่ะ”
4. มองหาโอกาสที่ดีกว่า:
เมื่อมีตำแหน่งที่ดูมีความหวังว่าจะเติมเต็มชีวิตได้มากขึ้นเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นส่วนของค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในสายงาน ย่อมถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่จะพาตัวเองออกไปโลกกว้างสำรวจตำแหน่งงานใหม่นั้นเสีย แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นที่จะเติบโตโดยไม่หยุดอยู่กับที่
“พอดีมีโอกาสที่สอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานในระยะยาวของผมเข้ามา มันทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นก้าวที่ถูกต้องถ้าผมจะเลือกเติบโตในสายอาชีพนี้ ผมต้องคว้าโอกาสใหม่นี้เอาไว้เพราะมันไม่ได้มีมาบ่อยๆ และเสียดายที่ทางเลือกนี้ ผมต้องลาออกครับ”
5. บริษัทมีการปรับโครงสร้าง:
กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วที่การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรจนต้องนำไปสู่การเลิกจ้างซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพนักงาน นั่นแปลว่าเหตุผลนี้ไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละบุคคล แต่เป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่บีบบังคับให้นายจ้างต้องฝืนใจตัดกำลังคนออกไปก่อน
“เนื่องจากช่วงโควิด บริษัทมีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หลายตำแหน่งงานรวมทั้งของดิฉันด้วย ได้รับผลกระทบเต็มๆ เลยต้องหางานใหม่ในช่วงนั้นค่ะ”
6. การทำงานกระทบกับชีวิตส่วนตัวเกินไป:
หากงานก่อนหน้านี้ของคุณไม่ได้สร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ยั่งยืน แต่กลับกัน มันยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคุณจนแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวไม่ได้ หรือวันหยุด วันลา ก็ยังต้องหอบงานไปทำอีกจนไม่มีเวลาพัก เหตุผลของการลาออกไปหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีต่อสุขภาพจึงมีน้ำหนักมากพอ
“ผมให้ความสำคัญเรื่อง work-life balance มาเป็นอันดับหนึ่งในตอนนี้ ผมอยากทำงานที่ตารางเวลามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างเท่าเทียมครับ”
7. ออกไปเรียนต่อ:
การศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือการพัฒนาวิชาชีพถือเป็นกระบวนการเชิงรุกเพื่อพัฒนาทักษะและคุณสมบัติของคุณที่เห็นได้ชัดเจน เป็นการลงทุนในความรู้ที่ทำให้ค่าตัวของคุณแพงขึ้นในระยะยาว ถือว่าสมเหตุสมผลมากในการลาออกจากงาน
“กิ่งลาออกจากงานไปเรียนต่อโทที่ลอนดอน เพื่อต่อยอดด้านการตลาดให้แน่นมากขึ้นค่ะ จะได้เข้าใกล้เป้าหมายชีวิตของเราไปอีกขั้น คือ การเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดในอนาคต”
8. อยากเปลี่ยนสายงาน:
เมื่อคนๆ นึงเติบโตและพัฒนาขึ้น บางทีแรงบันดาลใจในอาชีพที่เคยมีอาจแปรเปลี่ยนไป หรือที่เรียกกันติดปากว่าหมดแพสชั่นนั่นเอง หากงานเดิมของคุณไม่สอดคล้องกับความหลงใหลหรือเป้าหมายในอาชีพอีกต่อไป การลาออกเพื่อสำรวจเส้นทางใหม่ให้ชีวิตมีสีสันย่อมเป็นสิ่งที่เข้าใจได้
“ตอนนั้นที่ตัดสินใจลาออก เป็นเพราะดิฉันต้องการงานที่สอดคล้องกับความหลงใหลและความสนใจส่วนตัวมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่าหากเราได้ทำในสิ่งที่รัก เราจะทำมันออกมาได้อย่างดีที่สุด เลยไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนสายงานค่ะ”
9. บริษัทดูไม่มั่นคง:
หากบริษัทกำลังประสบปัญหาการรักษาเสถียรภาพทางการเงินหรือปัญหาอื่นๆ ที่ดูจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคง มันก็สมเหตุสมผลที่คุณจะเริ่มต้นมองหางานใหม่ที่มั่นคงกว่าเดิมแทนที่จะอยู่อย่างหวาดระแวงว่าเงินเดือนจะล่าช้า หรือวันไหนจะถูกเลิกจ้าง ความมั่นคงในการทำงานถือเป็นเหตุผลที่ดูน่าเชื่อถือ
“เนื่องจากเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความมั่นคงและแนวโน้มของบริษัทในอนาคต มันทำให้ผมรู้สึกว่าการมองหาโอกาสใหม่ในองค์กรมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ทำได้ในตอนนี้ครับ”
10. เหตุผลด้านสุขภาพ / ปัญหาส่วนตัว:
ทุกคนล้วนเผชิญหน้ากับความท้าทายในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาครอบครัว หรือวิกฤตส่วนตัวที่บีบให้คุณต้องออกจากงานที่ทำอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ถูกต้องและโดยทั่วไปนายจ้างมักให้ความเคารพ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลจัดการกับความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเอง
“ผมมีปัญหาส่วนตัวและปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องได้รับการผ่าตัด เลยตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับไปรักษาตัวเองให้ดีขึ้น และในตอนนี้ ผมก็พร้อมที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งแล้วครับ”
โปรดจำไว้ว่าคำตอบของคุณควรเน้นย้ำทักษะ ประสบการณ์ ให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นความสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่คุณสมัคร การสร้างคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคำถามนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณแตกต่างในฐานะผู้สมัคร แต่ยังแสดงความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทายด้วยความสง่างามและความมั่นใจอีกด้วย ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณถูกถามเกี่ยวกับการลาออกจากงานเดิม จงพร้อมที่จะให้คำตอบที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ