“จุดอ่อนของคุณคืออะไร?” ตอบยังไงให้มงลง

หนึ่งในคำถามสัมภาษณ์งานที่ถูกใช้บ่อยๆ คงหนีไม่พ้นคำถามที่ชี้ชวนให้แคนดิเดตเผยข้อบกพร่องของตัวเองอย่าง “จุดอ่อนของคุณคืออะไร?” เพราะแม้จะเป็นคำถามทั่วไป แต่กลับแฝงไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากเมื่อกล่าวถึงการสัมภาษณ์งานแล้ว ทุกคนล้วนมองมันเป็นโอกาสที่ผู้สมัครงานจะขายทักษะ ความสามารถและประสบการณ์ของตัวเอง ในขณะที่คำถามดังกล่าวกลับเป็นการนำเสนอเหตุผลที่เราไม่ควรถูกซื้อ อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า ผู้สัมภาษณ์เพียงต้องการให้คุณแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมกับการตระหนักรู้และมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองต่างหาก และนี่คือกลยุทธ์ตอบคำถามสัมภาษณ์สุดหินนี้เพื่อช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้

หลีกเลี่ยงคำตอบแบบทั่วไป

ลืมไปได้เลยกับคำตอบแบบดาษดื่นอย่าง “ผมเป็นคนคลั่งความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ครับ” หรือ “ดิฉันมักพบว่าตัวเองทำงานเยอะเกินไปค่ะ” คำตอบเหล่านี้อาจทำให้คุณดูไม่จริงใจ เหมือนท่องจำมาจากในเน็ต ซึ่งก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับตัวของคุณ ดังนั้น การตอบตามความเป็นจริงและเฉพาะเจาะจงดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้

เลือกจุดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับงาน

จงมั่นใจว่าข้อบกพร่องที่คุณหยิบยกมานั้น เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณสมัครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะตามหลักการแล้ว จุดอ่อนนี้ควรเป็นจุดที่คุณยังมีโอกาสในการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ แต่ไม่ควรเป็นทักษะหลักที่สำคัญและขาดไม่ได้สำหรับงานนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณสมัครงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล คุณอาจบอก ว่า “จุดอ่อนของผมคงจะเป็นด้านการพรีเซ้นต์ครับ แต่ผมก็กำลังพัฒนามันอยู่เรื่อยๆ”

แบ่งปันแผนการของคุณ

การละเลยถึงปัญหาจะแสดงถึงการไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเอง ดังนั้น เมื่อรู้ว่าจุดอ่อนของคุณคืออะไร ก็ควรสร้างความสบายใจให้กับผู้สัมภาษณ์รับทราบถึงวิธีการที่คุณจะใช้เพื่อแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่มี จะยิ่งทำให้คุณดูกระตือรือร้น มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง โดยอาจพูดถึงหลักสูตรที่คุณเรียน หนังสือที่คุณอ่าน หรือผู้เชี่ยวชาญที่คุณมองหาเพื่อช่วยเอาชนะจุดด้อยเหล่านั้นในท้ายที่สุด

เน้นความก้าวหน้าและความสำเร็จ

ถ้าเป็นไปได้ คุณสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือของคำตอบด้วยการแชร์ตัวอย่าง ว่า คุณมีความคืบหน้าในการจัดการกับจุดอ่อนของคุณอย่างไรบ้าง อาจเป็นข้อบกพร่องที่คุณเคยมีก่อนหน้าแต่สามารถพัฒนาจนมันกลายมาเป็นจุดแข็งของคุณในวันนี้ก็ได้ หลักๆ คือการเน้นย้ำความสำเร็จด้วยวิธีจัดการจุดอ่อนของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ มีการติดตามผลอยู่เสมอ และไม่ปล่อยผ่านไปเฉยๆ

แสดงทักษะที่สามารถต่อยอดได้

เพื่อให้คำตอบของคุณน่าประทับใจยิ่งขึ้น ให้เชื่อมโยงจุดอ่อนของคุณกับทักษะที่สามารถถ่ายทอดได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพูดถึงการที่ตัวเองมีแนวโน้มเป็นคนละเอียดเกินไป ก็อาจตอบไปแบบสวยๆ ว่า “แม้ดิฉันจะใช้เวลานานในการทำงานเนื่องจากเป็นคนที่ละเอียดเกินไปในบางครั้ง แต่ความพิถีพิถันนี้มักทำให้พบข้อผิดพลาดที่หลายคนมองข้ามไปจนหัวหน้าออกปากชมบ่อยๆ ว่างานของเรามีคุณภาพสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนอื่นในทีมค่ะ”

สิ่งสำคัญคือคุณต้องเข้าใจ ว่า เหตุใดผู้สัมภาษณ์จึงถามคำถามนี้ พวกเขาไม่ได้มองหาลิสต์รายการข้อบกพร่องของคุณเพื่อจะหาข้อติ แต่มันช่วยวัดการตระหนักรู้ในตนเอง ความซื่อสัตย์ และความเต็มใจที่จะเรียนรู้และปรับปรุงของคุณต่างหาก

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »