สัญญาณเตือนภัย บริษัทนี้ยัง ‘ไม่ใช่’ สำหรับคุณ​

ผึ้งหนีไปลูก หนีไปปป…. รู้หรือไม่ว่า การสัมภาษณ์งานไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้บริษัทสามารถประเมินความเหมาะสมของเรากับงานเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสของคุณในการประเมินองค์กรและพิจารณาว่างานนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโต ค่านิยม และความคาดหวังของเราด้วยหรือเปล่า นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้การสัมภาษณ์มาช่วยตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทที่เราจะฝากชีวิตไว้ด้วยได้ไหม จะได้ไม่เสียเวลาหางานใหม่อีกรอบหลังจากเข้าไปได้ไม่กี่สัปดาห์ เราได้รวบรวมสัญญาณเตือนภัย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพของคุณ เพื่อให้มั่นใจว่าการย้ายงานครั้งต่อไปจะเป็นการเลือกเดินในทิศทางที่ถูกต้อง

1. ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่

ในระหว่างขั้นตอนการสัมภาษณ์ หากบริษัทไม่สามารถให้คำอธิบายที่ชัดเจนและละเอียดมากพอเกี่ยวกับตัวงาน ความรับผิดชอบ และทำให้เราเห็นภาพกว้างๆ ของตำแหน่งงานนี้ว่าอยู่ส่วนไหนหรือมีส่วนช่วยองค์กรได้อย่างไร นี่อาจเป็นสัญญาณของความไม่เป็นระบบหรือขาดความโปร่งใสนั่นเอง คุณจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวเองนั้นเข้าใจบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งงานที่สมัครอย่างถ่องแท้ เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องไม่คาดฝันในตอนเริ่มงาน เช่น ถูกเปลี่ยนตำแหน่ง หรือหน้าที่ไม่เหมือนกับที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก

2. ฟีดแบคของพนักงานมีแต่เรื่องแย่ๆ

อย่าลืมตรวจสอบฟีดแบคของพนักงาน ว่า มีคอมเมนต์พนักงานที่เคยสัมภาษณ์งานหรือร่วมงานกับบริษัทนี้ในอดีต ออกความคิดเห็นอย่างไรบ้าง โดยคุณอาจเช็คจากกระทู้พันทิป รีวิวจาก Google หรือ Facebook ไปจนถึงเว็บไซต์ที่มีการให้คะแนนสถานประกอบการอย่าง Glassdoor เป็น หากบริษัทแสดงภาพลักษณ์เชิงลบอย่างต่อเนื่อง ก็อาจใช้เป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมากพอในการส่งสัญญาณเตือนภัยถึงวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษหรือปัญหาการจัดการที่อาจส่งผลต่อความพึงพอใจในงานของคุณได้

3. ความคาดหวังที่เกินจริง

หากบริษัทมีความคาดหวังที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของงาน เช่น มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป มีระยะเวลาที่กระชั้นชิด (ซึ่งอาจบีบให้เราต้องทำโอฟรี) หรือตั้งเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ยากจะทำให้สำเร็จได้ ก็อาจบ่งบอกถึงการไม่เห็นอกเห็นใจ การไม่คำนึงถึง work-life balance และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเลย คุณจึงต้องมาคิดวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ KPI รวมถึงการวัดผลของบริษัทว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมกว้างๆ หรือไม่

4. ไม่มีโอกาสก้าวหน้า

การหยุดอยู่กับที่ก็ไม่ต่างอะไรกับการเดินถอยหลัง พูดให้เข้าใจง่ายก็ คือ ความก้าวหน้าด้านการงานภายในองค์กรควรเป็นหมุดหมายหนึ่งที่พนักงานออฟฟิศทุกคนไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ดังนั้น หากบริษัทไม่มีโครงสร้างการเติบโตที่ชัดเจนหรือไม่ได้มีแผนการในการส่งเสริมบุคลากรจากภายใน มันอาจกลายมาเป็นอุปสรรคที่คุณจะไม่สามารถเติบโตทางสายงานในระยะยาวได้ การขาดโอกาสก้าวหน้าอาจสังเกตุได้จากโครงสร้างบริษัทที่ไม่เป็นระบบ ตำแหน่งงานมั่วซั่ว ไปจนถึงปราศจากการเทรนนิ่ง และไม่ส่งเสริมคอร์สฝึกอบรมต่างๆ

5. อัตราการลาออกของพนักงานสูง

ไม่มีสัญญาณไหนจะชัดเจนไปมากกว่า Turnover Rate อีกแล้ว เพราะอัตราการลาออกที่สูงนั้นสะท้อนถึงความไม่พอใจของพนักงานหลายคนที่มีต่อองค์กรกับการจัดการที่ไม่ดีหรือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ได้เอื้อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีนั่นเอง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะรับข้อเสนอใดๆ ก็ตาม คุณจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าตัวบริษัทว่ามีประวัติการลาออกของพนักงานมากน้อยแค่ไหน อาจเป็นการยิงคำถามในช่วงสัมภาษณ์งาน เช่น “พนักงานที่ทำงานที่นี่นานที่สุดในตำแหน่งงานเดียวกัน มีอายุงานเท่าไหร่” “ตำแหน่งงานที่ผมสมัครอยู่นี้ เป็นตำแหน่งงานเปิดใหม่ หรือเป็นตำแหน่งงานที่หาคนมาทำงานแทนคนเก่าที่ออกไป” ก็พอจะทำให้คุณเห็นภาพรางๆ ได้แล้ว

6. มีการเปลี่ยนตารางสัมภาษณ์บ่อย/หายไปนานระหว่างรอผล

หากกระบวนการสัมภาษณ์ทำให้คุณรู้สึกว้าวุ่น เพราะมีการเปลี่ยนตารางการนัดหมายอยู่บ่อยครั้ง หรือตรงกันข้ามมีความล่าช้าโดยไม่ทราบสาเหตุ เงียบหายไปนานกว่าจะเริ่มต้นในแต่ละสเต็ป สิ่งนี้อาจกำลังส่งสัญญาณบอกคุณ ว่า บริษัทไม่ได้เคารพต่อเวลาอันมีค่าของคุณเลย รวมไปถึงเกิดความวุ่นวายภายในองค์กร ซึ่งสะท้อนการสื่อสารภายในที่มีปัญหา ไม่เป็นระบบ โดยคุณอาจจับสังเกตได้ถึงการทำงานของพนักงานข้างในว่าพวกเขามีประสิทธิภาพในการรับมือแย่มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

7. บริษัทเร่งให้คุณรีบตัดสินใจ

ต้องระวังเป็นสองเท่า หากแผนกบุคคลใช้ความกดดันให้คุณตัดสินใจอย่างเร่งรีบเพื่อรับข้อเสนอการว่าจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่คุณมีสัมภาษณ์กับบริษัทอื่นรออยู่อีกหลายที่ เนื่องจากยิ่งพวกเขาอยากให้คุณตอบรับเร็วมากเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้องค์กรดูขาดแคลนมากขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ บริษัทที่เคารพความต้องการเวลาเพื่อไตร่ตรองข้อมูลของคุณในการตัดสินใจมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและความเป็นอยู่ที่ดีของคุณในฐานะพนักงานมากกว่า อีกทั้งการเร่งเร้าอาจหมายถึงภาวะที่บริษัทกำลังจนตรอก รอให้คุณเข้าไปจัดการปัญหาอันเนื่องมาจากการที่พนักงานคนก่อนไม่ส่งมอบงานและรีบลาออกจากไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในการสัมภาษณ์งานทุกครั้ง คุณไม่เพียงแต่จะต้องนำเสนอตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด แต่คุณยังต้องใช้เวลาประเมินอย่างรอบคอบด้วยว่าบริษัทนั้นๆ สอดคล้องกับแรงบันดาลใจและค่านิยมในอาชีพของคุณหรือไม่ ด้วยการรู้เท่าทันสัญญาณเตือนทั้งเจ็ดข้างต้น คุณสามารถหลีกเลี่ยงบริษัทที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตก่อนรับข้อเสนอตกลงเข้าทำงาน เพราะการตัดสินใจเลือกอย่างรอบคอบจะนำไปสู่เส้นทางอาชีพที่เติมเต็มและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในอนาคต

ที่มา: Forbes

Facebook
Twitter
LinkedIn

Leave a Reply

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เรซูเม่สมัยใหม่ต้องใส่ใจระบบติดตามผู้สมัคร ATS

เสียเวลาหลายชั่วโมงกับการเขียนเรซูเม่แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทที่สมัครไป? บางทีอาจเป็นเพราะเรซูเม่ไม่ได้เป็นมิตรกับระบบ ATS

Read More »
ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

ลาออกยังไงให้จบแบบสวยๆ

จะแจ้งลาออกตอนไหนดีนะ? เริ่มต้นจากตรงไหนก่อน หรือควรทำตัวอย่างไรในช่วงการเปลี่ยนถ่ายงานนี้ให้การออกจากงานนั้นจบลงไปด้วยดี

Read More »